กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีเซลล์สัตว์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ร่วมกับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ สำหรับผู้วิจัย พัฒนา และผู้ผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ
หัวข้อ การขยายขนาดการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์เพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ
กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีเซลล์สัตว์ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ร่วมกับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ สำหรับผู้วิจัย พัฒนา และผู้ผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ หัวข้อ การขยายขนาดการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์เพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์เพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ ที่ได้ดำเนินการในระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา โดยการอบรมในครั้งนี้จะเน้นให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการที่สำคัญในการขยายขนาดการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์เพื่อการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ การหาปัจจัยที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงเซลล์โดยใช้ถังปฏิกรณ์ชีวภาพรูปแบบต่างๆ และการออกแบบกระบวนการผลิต รวมถึงมีโอกาสได้ฝึกทักษะในการปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์ในถังปฏิกรณ์ชนิดต่างๆ ซึ่งคาดว่าหลังผ่านการอบรม ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีความรู้ ความเข้าใจในหลักการในการเพาะเลี้ยงเซลล์สัตว์และการขยายขนาดการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ถังปฏิกรณ์ชีวภาพรูปแบบต่างๆ เพื่อการต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์วัคซีนและยาชีววัตถุในระดับโรงงานต้นแบบต่อไป โครงการกำหนดจัดขึ้น 5 วัน ในระหว่างวันที่ 19-23 สิงหาคม 2567 โดยมีการอบรมภาคบรรยาย 2 วัน ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพมหานคร การอบรมภาคปฏิบัติ 3 วัน ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน)
โดยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ได้จัดพิธีเปิดโครงการ และเปิดการอบรมภาคบรรยาย ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ในการนี้ ผศ. ดร.บุณยพัต สุภานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวแสดงความขอบคุณสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน พร้อมแจ้งถึงเป้าหมายโครงการ คือ เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุของประเทศ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความเป็นมาโครงการ และแนวทางการสนับสนุนบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เมอร์ค จำกัด บริษัท Eppendorf บริษัท แบงก์เทรดดิ้ง 1992 จำกัด และบริษัท ยีนพลัส จำกัด ร่วมถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์แก่ผู้เข้าร่วม นอกจากนี้มีการจัดพื้นที่แสดงนิทรรศการของบริษัทต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทราบถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง